ศัตรูตัวร้ายของน้องหมา

พยาธิแส้ม้า (Whipworm)

พยาธิแส้ม้า (Whipworm)

พยาธิแส้ม้า (Whipworm)
 

 

แหล่งอาศัย : พบได้ในทางเดินอาหารของสุนัข และสามารถพบไข่พยาธิแส้ม้าได้ในสิ่งแวดล้อม

พบได้ : มีวงจรชีวิตช่วงตัวอ่อนที่บริเวณลำไส้เล็กของสุนัข ก่อนที่จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ใหญ่ ก่อนแพร่กระจายสู่ภายนอก

ติดสุนัขโดย : การกินสิ่งปนเปื้อนไข่พยาธิจากสิ่งแวดล้อม 

ผลร้ายกับสุนัข : ส่งผลทำให้สุนัขมีอาการถ่ายเหลว สุนัขถ่ายเป็นเลือด โลหิตจาง น้ำหนักลด เจริญเติบโตช้า ในรายที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจส่งผลถึงชีวิตได้

 

ข้อมูลทั่วไป

พยาธิแส้ม้า หรือที่รู้จักกันชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Trichuris vulpis) เป็นพยาธิที่พบได้บ่อยในน้องหมา ซึ่งพยาธิเหล่านี้อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร สามารถพบพยาธิแส้ม้านี้ได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสุนัข เช่น สุนัขบ้าน สุนัขป่า และสุนัขจิ้งจอก พยาธิแส้ม้าถูกเรียกว่า “Whipworm” ที่แปลว่าแส้ เนื่องจากรูปร่างหน้าตาของพยาธิชนิดนี้ มีส่วนหัวเป็นเส้นเล็กเรียวยาว ในขณะที่ช่วงท้ายลำตัวมีขนาดใหญ่กว่า ทำให้พยาธิชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายแส้ จึงเป็นที่มาของชื่อพยาธินั่นเอง ส่วนหัวของพยาธินั้นจะเกาะยึดติดกับผนังลำไส้ใหญ่เพื่อดูดกินเลือด และสารอาหารจากสุนัข ส่วนท้ายมีไว้เพื่อสืบพันธุ์ ไข่พยาธิชนิดนี้มีความหนาและทนทาน จึงสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อน และเย็นจัดได้เป็นเวลานาน บางรายงานพบว่าสามารถอยู่ได้นานถึง 7 ปีเลยทีเดียว ด้วยเหตุผลนี้พยาธิแส้ม้าจึงเป็นพยาธิที่มีการติดต่อในน้องหมาด้วยอัตราที่ค่อนข้างสูง 

ในขณะนี้การระบาดของพยาธิแส้ม้าลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามไข่พยาธิตามธรรมาติก็ยังสามารถพบเจอได้อยู่ สุนัขกลุ่มที่มีความเสี่ยงมักเป็นกลุ่มสุนัขที่มีนิสัยชอบเลียกินสิ่งต่าง ๆ ตามพื้นดิน สุนัขที่ใช้ชีวิตอาศัยอยู่กับพื้นดิน เนื่องจากไข่พยาธิแส้ม้าจะชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชื้นและอบอุ่น รวมถึงสุนัขที่ไม่ได้รับการถ่ายพยาธิสม่ำเสมอ

 

การติดต่อ

พยาธิแส้ม้าเป็นพยาธิที่สามารถเข้าสู่ร่างกายสุนัขได้โดยตรง ไม่ต้องอาศัยพาหะหรือโฮสต์กึ่งกลาง โดยน้องหมาจะได้รับไข่พยาธิจากภายนอก ซึ่งไข่พยาธิแส้ม้าสามารถคงทนอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ยาวนาน จึงสามารถรับพยาธิได้จากการเลียกินสิ่งปนเปื้อนไข่พยาธิจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ  ต่อมาพยาธิจะเดินทางไปตามทางเดินอาหารของน้องหมา จนไปสู่ลำไส้เล็ก หาที่พักพิงในผนังลำไส้ เพื่อเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะโตเต็มวัยแล้วจึงค่อยไปอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ คอยดูดกินเลือดจากการเกาะอยู่ที่ผนังลำไส้ รวมถึงแพร่พันธุ์ และปล่อยไข่พยาธิออกมาภายนอกพร้อมกับอุจจาระ โดยไข่พยาธิแส้ม้าเมื่อออกมาสู่ธรรมชาติจะยังไม่สามารถติดเชื้อในสุนัขได้ทันที ต้องรอตัวอ่อนในไข่พยาธิใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ในการเจริญเติบโต เพื่อให้พร้อมที่จะติดเชื้อเข้าสู่ตัวสุนัขวนเวียนไป

ส่วนเรื่องการติดต่อสู่คนนั้น พบว่าพยาธิแส้ม้าในน้องหมาไม่ติดต่อและส่งผลต่อคน เนื่องจากคนไม่ใช่เป้าหมายของพยาธิแส้ม้าชนิดที่พบในน้องหมา แต่ในคนก็สามารถพบ (Trichuris trichiura) ที่เป็นพยาธิแส้ม้าที่ติดต่อคนได้ ซึ่งมักจะมีการระบาดในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี

อาการ

อาการแสดงในสุนัขมาจากการที่พยาธิเหล่านี้กินเลือด และของเหลวที่มีสารอาหารจากเนื้อเยื่อและผนังลำไส้ของน้องสุนัข ซึ่งถ้าหากสุนัขได้รับไข่พยาธิในปริมาณน้อย และมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง ก็อาจยังมีอาการร่าเริงปกติ โดยที่ไม่แสดงอาการให้เจ้าของเห็น แต่ถ้าหากน้องหมาได้รับเชื้อในปริมาณมากหรือน้องหมามีร่างกายไม่แข็งแรง ก็อาจพบอาการผิดปกติได้ เช่น อาการจากภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ จะก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว หรือพบว่าสุนัขถ่ายเป็นเลือดได้เช่นกัน ต่อมาเมื่อสุนัขดูดซึมอาหารได้น้อยลงจากภาวะท้องเสีย รวมถึงการโดนพยาธิแส้ม้าแย่งสารอาหารที่ควรได้รับไป และยังโดนดูดเลือดตลอดเวลา ก็สามารถทำให้เห็นภาวะน้ำหนักลด ภาวะแห้งน้ำ โลหิตจาง นอกจากนี้ในสุนัขที่มีพยาธิแส้ม้าปริมาณมาก เจ้าของอาจสังเกตเห็นตัวพยาธิได้ในอุจจาระ โดยจะเห็นลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ สีขาว ที่มีปลายด้านหนึ่งเรียวเล็ก อีกด้านเป็นปลายที่กลมมนใหญ่กว่าอีกด้าน ท้ายที่สุดในรายที่มีอาการรุนแรง และไม่ได้รับการดูแลก็ส่งผลถึงชีวิตได้


การรักษา

วิธีรักษาโรคพยาธิแส้ม้ามีแนวทางการรักษาด้วยการให้ยาถ่ายพยาธิสุนัขที่ตรวจพบเชื้อ โดยการรักษาจะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้กำจัดวงจรของพยาธิที่อาศัยอยู่ในร่างกายทั้งแต่ไข่พยาธิไปจนถึงพยาธิโตเต็มวัยได้อย่างครบวงจร ซึ่งผลิตภัณฑ์ถ่ายพยาธิที่ใช้ก็มีอยู่หลากหลายชนิดด้วยกัน อย่างไรก็ตามวิธีการรักษา การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ขนาด และความถี่ในการใช้ ควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้รักษา

 

การป้องกัน

วิธีการป้องกันพยาธิแส้ม้า สามารถลดความเสี่ยงในการติดพยาธิทำได้โดยการรักษาความสะอาดตัวน้องสุนัขและสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย หลีกเลี่ยงการให้สุนัขอยู่ในพื้นที่ที่อาจมีการสะสมของไข่พยาธิ เช่น พื้นดินที่อบอุ่นและเปียกชื้น ทั้งนี้พื้นที่ที่มีไข่พยาธิโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีสุนัขหรือแมวชุกชุม เนื่องจากไข่พยาธิแส้ม้าสามารถทนอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ยาวนาน เพราะฉะนั้นการวางแผนป้องกันพยาธิและการถ่ายพยาธิให้กับตัวน้องหมาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยน้องหมาควรได้รับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าสามารถป้องกันพยาธิ อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ทุก ๆ เดือน อย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าของสามารถพาน้อง ๆ ไปพบคุณหมอเพื่อวางแผนการป้องกันพยาธิแส้ม้า รวมถึงให้คุณหมอจ่ายยาได้ที่โรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกรักษาสัตว์ใกล้บ้าน

ปกป้องน้องให้ครบกว่าทุกการป้องกัน ทั้งเห็บ หมัด ไร พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่น ๆ ด้วยโปรแกรมป้องกันปรสิตที่ครบกว่าที่สัตวแพทย์แนะนำ

คัดลอก URL แล้ว