ศัตรูตัวร้ายของน้องหมา

พยาธิปากขอ (Hookworm)

พยาธิปากขอ (Hookworm)

พยาธิปากขอ (Hookworm)

แหล่งอาศัย : ตัวอ่อนพบในดิน และสภาพแวดล้อม ตัวเต็มวัยอาศัยในลําไส้เล็กของสุนัข

พบได้ : ลำไส้เล็กของสุนัข

ติดสุนัขโดย : การกินตัวอ่อนพยาธิ, พยาธิไชผ่านรูขุมขนหรือติดจากแม่สุนัขสู่ลูกได้

ผลร้ายกับสุนัขและเจ้าของ : ทำให้ลูกสุนัขท้องเสีย อุจจาระสีเข้มขึ้น อาจมีกลิ่นคาว อ่อนแรง ซึม ขนหยาบ โลหิตจางจากพยาธิทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงเพื่อทำให้กินเลือดได้ง่าย ในลูกสุนัขสามารถพบปัญหาแคระแกร็นได้บ่อยครั้ง และสามารถติดต่อสู่คนได้

 

ข้อมูลทั่วไป

พยาธิปากขอ (hookworm) คือพยาธิภายในที่อยู่ในกลุ่มพยาธิตัวกลม พยาธิปากขอในน้องหมามีหลายชนิด โดยชนิดที่พูดถึงบ่อยมากที่สุดก็คือ (Ancylostoma caninum) และยังสามารถพบชนิด (Ancyclostoma ceylanicum) ที่ติดมากจากแมวได้ด้วย พยาธิชนิดนี้มีลักษณะพิเศษ คือ มีปากเป็นตะขอเพื่อเอาไว้เกาะเกี่ยวผนังลำไส้ ลำตัวมีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร อาศัยในลำไส้เล็กและดูดเลือดเป็นอาหาร 

วงจรชีวิตของพยาธิปากขอเริ่มจากการที่พยาธิตัวเต็มวัยที่อาศัยอยู่บริเวณผนังสำไล้เล็กทั้งเพศผู้ และเพศเมียเกิดการผสมพันธุ์กัน และออกไข่ โดยรายงานพบว่าพยาธิปากขอสามารถออกไข่ได้สูงถึง 16,000 ใบต่อวัน ไข่เหล่านั้นจะออกสู่ภายนอกผ่านทางอุจจาระของสุนัข เมื่อไข่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (ความชื้นสูง และอุณหภูมิประมาณ 23-30 องศาเซลเซียส) ตัวอ่อน (larvae) จะฟักออกจากไข่ภายใน 1-2 วัน 

ตัวอ่อนที่เพิ่งฟักออกมานี้ จะถูกเรียกว่าเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตภายในอุจจาระหรือดิน และทำการลอกคราบ 2 ครั้ง เพื่อกลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งระยะนี้เป็นระยะติดต่อ ที่สามารถติดต่อไปยังโฮสต์ตัวอื่น ๆ ได้ ตัวอ่อนในระยะนี้จะสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานถึง 3-4 สัปดาห์ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เมื่อตัวอ่อนระยะติดต่อสัมผัสกับผิวหนังของโฮสต์ ตัวอ่อนจะทำการชอนไชผ่านผิวหนังเข้าไปยังหลอดเลือด และไหลเวียนตามกระแสเลือดไปยังหัวใจ และปอด จากนั้นจะทำการชอนไชผ่านทางหลอดลมไปยังคอหอย สุนัขจะเกิดอาการสำลัก และกลืนตัวอ่อนเข้าไปยังลำไส้เล็ก ซึ่งในบริเวณนี้เองที่ตัวอ่อนของพยาธิปากขอจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยเพื่อสืบพันธุ์และออกไข่ ขยายพันธุ์เป็นวงจรเช่นนี้ต่อไป

โดยพบว่าถ้าสุนัขมีพยาธิจำนวนมาก และติดพยาธิเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดปัญหาโลหิตจาง และส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพได้ โดยอาการที่พบหากน้องหมาติดพยาธิปากขอสามารถพบได้ตั้งแต่ไม่แสดงอาการเลย จนถึงมีอาการรุนแรง

ที่สำคัญที่สุดคือพยาธิปากขอนั้นไม่ได้เป็นอันตรายแค่กับสุนัขเท่านั้น แต่พยาธิปากขอยังสามารถติดต่อสู่มนุษย์ได้ด้วยนะ ดังนั้นพยาธิปากขอจึงเป็นปรสิตตัวร้ายที่ทำให้ทั้งคนและน้องหมาป่วยได้เลย จึงทำให้โรคพยาธิปากขอเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของน้องหมาห้ามมองข้ามโดยเด็ดขาด

การติดต่อ

น้องหมาติดพยาธิปากขอจากการกินตัวอ่อน หรือจากการไชผ่านผิวหนังบริเวณรูขุมขน โดยเฉพาะง่ามนิ้ว และไปโตเต็มวัยอยู่ที่ทางเดินอาหาร พยาธิชนิดนี้สามารถติดจากแม่สู่ลูกได้ง่าย จึงควรทำการป้องกัน ในกรณีที่น้องหมาเตรียมตัวก่อนที่จะเป็นคุณแม่ เพื่อทำให้ทั้งตัวคุณแม่และลูก ๆ แข็งแรง ไม่สูญเสียเลือด และสารอาหารไปจากการติดพยาธิ

นอกจากนี้สุนัขที่มีพยาธิปากขอโตเต็มวัยอยู่ในร่างกาย เมื่อถ่ายอุจจาระออกมาก็จะมีไข่พยาธิปากขอออกมาพร้อมกับอุจจาระได้ ทำให้เกิดวงจรการติดต่อสู่สุนัขตัวอื่นภายในบ้านหรือเจ้าของได้เช่นกัน

โดยสุนัขกลุ่มเสี่ยงคือสุนัขที่ชอบเล่นบนพื้นดินหรืออยู่กับพื้นดินเป็นประจำ เพราะอาจถูกพยาธิปากขอไชผ่านผิวหนัง หรือว่าเผลอกินไข่พยาธิที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเข้าไปได้

อาการ

อาการของสุนัขที่เป็นโรคพยาธิปากขอมีหลากหลายรูปแบบ โดยอาจเกิดการระคายเคือง และติดเชื้อในบริเวณที่พยาธิไชและเคลื่อนผ่าน เช่น ผิวหนังหรือปอดตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการติดพยาธิ แต่อาการที่พบได้หลัก ๆ คือ ท้องเสีย อุจจาระสีเข้มขึ้น อาจมีกลิ่นคาว อ่อนแรง ซึม ขนหยาบ โลหิตจางจากการที่พยาธิทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงเพื่อทำให้กินเลือดได้ง่าย ซึ่งน้องหมาจะเสียเลือดมากขึ้น ในลูกสุนัขสามารถพบปัญหาแคระแกร็นได้บ่อยครั้ง 

หากพยาธิปากขอติดสู่เราผ่านสุนัขโดยการกิน จะสามารถส่งผลให้เกิดพยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้ได้ แต่ถ้าตัวอ่อนของพยาธิปากขอไชเข้าสู่ผิวหนังของคน จะไม่สามารถไปโตเต็มวัยที่ลำไส้ได้ ซึ่งตามปกติแล้วจะมีพยาธิปากขอชนิดที่พบได้ในคนซึ่งต่างชนิดกันกับที่พบในน้องหมา

การรักษา

ในกรณีตรวจพบว่าสุนัขมีการติดพยาธิปากขอ สัตวแพทย์ควรทำการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ร่วมกับการให้ยาถ่ายพยาธิสุนัข เช่น หากสัตว์มีภาวะโลหิตจางอาจพิจารณาการถ่ายเลือด หรือให้ธาตุเหล็กเพิ่มเติม ให้สารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ ตลอดจนให้อาหารที่มีโปรตีนสูงร่วมด้วย สำหรับการถ่ายพยาธิในสุนัขสามารถทำได้ทันทีที่ตรวจพบการติดพยาธิ โดยตัวผลิตภัณฑ์ถ่ายพยาธิสุนัขที่สามารถออกฤทธิ์จัดการพยาธิปากขอในปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด โดยคุณหมอสัตวแพทย์จะเลือกใช้ชนิดยาที่เหมาะสมสำหรับน้องหมาแต่ละสายพันธุ์ต่อไป

การป้องกัน

การป้องกันพยาธิปากขอควรทำร่วมกันทั้งการดูแลความสะอาดของสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีสิ่งสกปรก หรืออุจจาระอันเป็นที่มาของการสะสมของพยาธิ ตลอดจนดูแลความชื้นของกรงไม่ให้มีน้ำขัง หรือความชื้นสะสมซึ่งเอื้อให้พยาธิสามารถเจริญเติบโตได้ ร่วมกับการถ่ายพยาธิเป็นประจำทั้งในลูกสุนัข และสุนัขโต ทั้งนี้สำหรับลูกสุนัขแนะนำให้ถ่ายพยาธิด้วยยาถ่ายพยาธิสุนัขอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเริ่มถ่ายพยาธิครั้งแรกตั้งแต่อายุได้ 2 สัปดาห์ จากนั้นถ่ายซ้ำในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา และสุนัขโตควรถ่ายพยาธิทุก ๆ 3 เดือน นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังสามารถแนะนำเจ้าของให้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตที่ออกฤทธิ์ป้องกันทั้งปรสิตภายนอก ที่ครอบคลุมทั้งการกำจัดเห็บ หมัดสุนัข ไรขี้เรื้อนเปียก ไรขี้เรื้อนแห้ง และไรหู เป็นประจำทุกเดือนตามที่สัตวแพทย์แนะนำ ร่วมกับการป้องกันปรสิตภายในร่างกาย เช่น พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า พยาธิหนอนหัวใจ เพื่อเป็นการเสริมการป้องกันทั้งภายนอกและภายในอย่างครบครัน ช่วยให้สุนัขปลอดภัยจากเหล่าปรสิตตัวร้ายมากยิ่งขึ้น

ปกป้องน้องให้ครบกว่าทุกการป้องกัน ทั้งเห็บ หมัด ไร พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่น ๆ ด้วยโปรแกรมป้องกันปรสิตที่ครบกว่าที่สัตวแพทย์แนะนำ

คัดลอก URL แล้ว