ศัตรูตัวร้ายของน้องหมา

หมัด (Fleas)

หมัด (Fleas)

หมัด (Fleas)

    

แหล่งอาศัย : สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝุ่นมาก เช่น ใต้โซฟา ใต้พรม ซอกพื้นบ้าน เบาะ ที่นอน รวมถึงพื้นดิน สามารถติดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โดยเฉพาะสุนัขและแมว

พบได้ : ตามสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะบริเวณที่มีฝุ่นมาก เช่น ใต้โซฟา ใต้พรม ซอกพื้นบ้าน เบาะ ที่นอน รวมถึงพื้นดิน และบนตัวของสุนัข โดยพบการระบาดมากในสุนัขที่เลี้ยงปล่อย เลี้ยงร่วมกันหลายตัว และไม่ได้รับการป้องกันปรสิตอย่างสม่ำเสมอ โดยจากรายงานพบว่าหมัดที่พบบนตัวสุนัขนับเป็นเพียง 5% ของจำนวนหมัดทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่บริเวณนั้น 

ติดสุนัขโดย : หมัดจะกระโดดจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ตัวสุนัขไปยังบริเวณใกล้เคียง และมักใช้ปากกัดเพื่อดูดเลือดเป็นอาหาร

ผลร้ายกับสุนัข : ก่อให้เกิดอาการคัน ผิวหนังระคายเคือง และเกิดการอักเสบ โดยน้ำลายของหมัดมีโปรตีนซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ส่งผลให้สุนัขเกิดภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด สุนัขจะแสดงอาการคันมาก ขนร่วง และอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ในบางรายมีหมัดเกาะร่างกายเป็นจำนวนมากเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางได้อีกด้วย นอกจากนี้หมัดยังเป็นพาหะของพยาธิตัวตืดหรือพยาธิตืดแตงกวา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาสุขภาพซึ่งส่งผลเสียทำให้สุนัขมีร่างกายที่อ่อนแอ และเพิ่มโอกาสในการป่วยมากยิ่งขึ้น

 

ข้อมูลทั่วไป  

หมัด คือปรสิตที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ มีมากมายหลายชนิด แต่ชนิดที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขคือหมัดสุนัข (dog flea) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ctenocephalides canis หมัดชนิดนี้เป็นปรสิตที่พบการแพร่ระบาดเป็นอย่างมากในประเทศไทยทั้งในเขตเมืองและเขตต่างจังหวัด อีกทั้งยังสามารถพบได้ทั่วโลก โดยหมัดจัดเป็นแมลงขนาดเล็กที่ไม่มีปีก และสามารถกระโดดได้ไกลเมื่อเทียบกับขนาดตัว ความยาวลำตัวประมาณ 1-2.5 มิลลิเมตร มีลักษณะเฉพาะคือลำตัวแบนจากด้านข้าง มีลำตัวสีน้ำตาลดำหรือสีน้ำตาลแดงดำ ลำตัวมีลักษณะคล้ายข้อปล้อง ปกคลุมด้วยขน ส่วนหัวมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขา 3 คู่ โดยหมัดจะใช้ขาคู่หลังซึ่งมีความยาวที่สุดเป็นอวัยวะหลักในการกระโดด

    วงจรชีวิตของหมัดมีการผลัดเปลี่ยนของถิ่นที่อยู่อาศัยหลายครั้ง โดยจะขึ้นลงระหว่างบนร่างกายของสุนัข และสิ่งแวดล้อมเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปตามแต่ละระยะ โดยวงจรชีวิตของหมัดแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน ระยะดักแด้ และระยะตัวเต็มวัย

    ระยะไข่ (egg) : ไข่ของหมัดมีลักษณะมันวาว และเกาะติดอยู่กับเส้นขนของสุนัข โดยวงจรชีวิตหมัดจะเริ่มจากการที่แม่หมัดที่โตเต็มวัยจะวางไข่บนเส้นขนของสุนัขภายใน 24-48 ชั่วโมง จากนั้นไข่หมัดจะหล่นลงสู่ภายนอกเพื่อพัฒนาเป็นระยะต่อไป โดยแม่หมัดจะสามารถผลิตไข่ได้มากถึง 40-50 ฟองต่อวัน และต่อเนื่องได้ยาวถึง 100 วัน

    ระยะตัวอ่อน (larva) : หลังจากแม่หมัดวางไข่ประมาณ 1-6 วัน ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ และกินเศษอินทรียวัตถุเป็นอาหาร จากนั้นจะพัฒนาเข้าสู่ระยะดักแด้ โดยตัวอ่อนของหมัดมักหลบซ่อนอยู่ตามซอกหรือหลืบมุมบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่อับแสงและเย็น เช่น ซอกโซฟา พื้นบ้านหรือพรม และมีพฤติกรรมในการมุดลงดิน จากนั้นจะมีการลอกคราบเพื่อเจริญเติบโตเต็มที่ก่อนเข้าสู่ระยะดักแด้

    ระยะดักแด้ (pupae) : ในระยะนี้ตัวอ่อนจะสร้างเปลือกหรือรังดักแด้ขึ้นมาห่อหุ้มตัวเอง เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น เช่น แรงสั่นสะเทือน แสง หรือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวอ่อนจะออกจากเปลือกแล้วเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้ภายใน 7-14 วัน โดยในระยะนี้ ตัวอ่อนอาจอยู่ในระยะสงบ (ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับตัวสุนัข) ได้นานหลายเดือนหากไม่มีสิ่งเร้ามากระตุ้น ส่งผลให้การดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันการติดหมัดได้

    ระยะตัวเต็มวัย (adult) : เมื่อเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย หมัดจะกลับสู่ร่างกายของสุนัขเพื่อดูดเลือดเป็นอาหาร และมีการปล่อยน้ำลายซึ่งมีโปรตีนที่อาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ออกมา ซึ่งระยะนี้ถือเป็นระยะเดียวที่สามารถพบได้บนร่างกายสัตว์ โดยหมัดเพศเมียจะสามารถวางไข่ได้ภายหลังการดูดเลือด 24-48 ชั่วโมง วนเวียนเช่นนี้เป็นวัฏจักรต่อไป

 

การติดต่อ

สุนัขสามารถติดหมัดได้ทั้งจากสิ่งแวดล้อม และจากสุนัขด้วยกันเอง โดยหมัดมักถ่ายทอดจากสุนัขตัวหนึ่งไปสู่สุนัขอีกตัวผ่านทางการสัมผัส ซึ่งการติดต่อนี้มักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มของสุนัขที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เลี้ยงแบบปล่อย และไม่ได้รับการป้องกันปรสิตอย่างสม่ำเสมอ โดยหมัดนอกจากจะเป็นต้นเหตุของการเกิดอาการคันในสุนัขแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัดซึ่งถือเป็นโรคทางผิวหนังที่มีความสำคัญ และส่งผลให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ลดลงเป็นอย่างมาก

 

อาการ

สุนัขที่ติดหมัดมักเกิดอาการคันบริเวณที่โดนหมัดกัด และเมื่อหมัดมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นบนตัวสุนัข สุนัขอาจเกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งจะแสดงออกผ่านทางอาการอ่อนเพลีย เยื่อเมือกซีด อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย นอกจากนี้ในรายที่เกิดภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัดยังอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ เช่น เกิดอาการคันมาก ผิวหนังหนาตัว เป็นขุย อาจพบผิวหนังอักเสบมีตุ่มหนองบริเวณหลังส่วนล่าง โคนหาง หรือขาหลัง นอกจากนี้ยังอาจเกิดแผลซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้อีกด้วย

 

การรักษา

ภาวะความผิดปกติสำคัญ ที่มีสาเหตุมาจากการโดนหมัดกัดในสุนัข คือ ภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด โดยภาวะนี้สามารถทำการรักษาให้หายขาดได้จากการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อลดอาการคัน หรือผลิตภัณฑ์ลดการอักเสบร่วมกันกับการจัดการ และผลิตภัณฑ์ควบคุมหมัดทั้งบนตัวสัตว์ และในสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามหากพบปัญหาอื่น ๆ แทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์ ควรจัดการการติดเชื้อดังกล่าวร่วมด้วย

 

การป้องกัน

การป้องกันสุนัขจากหมัดในปัจจุบันสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตที่มีประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองจากสัตวแพทย์ โดยควรใช้เป็นประจำสม่ำเสมอตามคำแนะนำ ซึ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้เจ้าของสามารถเลือกใช้ได้หลายชนิดโดยเฉพาะชนิดที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมการป้องกันปรสิตภายนอก (ออกฤทธิ์กำจัดเห็บหมัดไรขี้เรื้อน)  และปรสิตภายใน เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิแส้ม้า และ พยาธิหนอนหัวใจ โดยควรทำร่วมกันกับการดูแลความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโอกาสการสะสมและเพิ่มจำนวนของหมัดในธรรมชาติ  

ปกป้องน้องให้ครบกว่าทุกการป้องกัน ทั้ง
เห็บ หมัด ไร พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่น ๆ ด้วยโปรแกรมป้องกันปรสิตที่ครบกว่าที่สัตวแพทย์แนะนำ

คัดลอก URL แล้ว