ศัตรูตัวร้ายของน้องหมา

ไรหู (Ear Mites)

ไรหู (Ear Mites)

ไรหู (Ear Mites)

แหล่งอาศัย : อาศัยอยู่ในหูสุนัข

พบได้ : ในช่องหูของสุนัข

ติดสุนัขโดย : การติดจากสุนัขตัวอื่นที่มีไรหูอยู่แล้ว

ผลร้ายกับสุนัข : ทำให้สุนัขคันหู เกาหู สั่นหัวตลอด เดินเอียง หูอักเสบ มีขี้หูที่สีดำหรือมีสีที่เข้มขึ้นมาก ขี้หูมากผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็น

 

ข้อมูลทั่วไป

ไรหู เป็นปรสิตขนาดเล็กที่พบในหูของทั้งน้องหมาและน้องแมว มีชื่อวิทยาศาสตร์เรียกว่า Otodectes cynotis ซึ่งพบ ได้บ่อยโดยเฉพาะในน้องหมาที่ไม่ค่อยได้ดูแลความสะอาดและทำการป้องกันปรสิต แต่นอกจากในน้องหมาแล้วก็ยังพบในน้องแมว และมีรายงานพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น ๆ เช่น กระต่าย และเฟอร์เร็ตอีกด้วย

โดยลักษณะของไรหูนั้นจะปรสิตที่มีขนาดเล็ก มีสีขาว เคลื่อนที่ไปมา โดยจะอาศัยอยู่แต่ในบริเวณรูหูเป็นส่วนใหญ่ โดยไรในหูจะทำให้เกิดการระคายเคือง และเกิดความผิดปกติที่ผิวหนังในรูหูที่ไรหูอาศัยอยู่ จากการระคายเคืองของน้ำลายของตัวไร ในขณะที่เก็บกินไขมันและเศษผิวหนังบนผิวหนัง ทำให้รูหูเกิดการอักเสบและมีความผิดปกติตามมา

วงจรชีวิตของไรในหูนั้นเริ่มต้นจากตัวเมียจะออกไข่และพัฒนาเป็นตัวอ่อน ใช้เวลา 4 วัน และตัวอ่อนพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัยในระยะต่างๆ ใช้เวลา 3-5 วัน ผ่านการลอกคราบ โดยทั้งวงจรชีวิตของไร ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในการเจริญเติบโตขึ้นอยู่สภาพภูมิอากาศ โดยสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้น เช่น ประเทศไทย วงจรชีวิตจะเร็ว โดยไรหูตัวเต็มวัยจะมีอายุประมาณ 2 เดือนในบริเวณที่ก่อโรค และช่วงระหว่างนั้นสามารถวางไข่เพื่อขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดความรุนแรงได้อย่างรวดเร็วหากไม่มีการดูแลที่เหมาะสม

 

การติดต่อ

การติดเชื้อไรในหูของหูสุนัข สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสสุนัขที่มีตัวไรแม้เพียงไม่นาน โดยพบว่ามักติดต่อผ่านทางสุนัขไปสัมผัสกับสุนัขหรือแมวจรจัดที่ติดเชื้อไรหูอยู่ ดังนั้นไรหูจึงถือเป็นปรสิตที่มีการติดต่อง่ายชนิดหนึ่งที่ห้ามประมาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้สุนัขที่มีลักษณะหูยาวพับ เช่น บีเกิ้ล ดัชชุน อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไรหูมากยิ่งขึ้น เนื่องจากลักษณะของหูที่ปิดพับนั้นทำให้หูอับชื้น และอักเสบได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

 

อาการ

    สุนัขที่เป็นไรในหูจะมีอาการหลักๆ คือ คันหู ชอบสะบัดหู หรือมีความถี่ในการเกาหูเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งหากสังเกตบริเวณรูหูจะพบว่ามีขี้หูที่ผิดปกติไป คือ มีสีดำหรือมีสีที่เข้มขึ้นมาก มีขี้หูมากผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็น โดยการติดเชื้อไรในหูสามารถนำไปสู่อาการคันที่รุนแรง จนเกิดเป็นผื่นแดงที่ใบหูและในช่องหูได้ รวมไปถึงมีอาการอักเสบของช่องหูส่วนนอกตามมา โดยจะมีอาการได้ที่หูข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้ ในกรณีที่เป็นเรื้อรังหรือเป็นหนักอาจจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการแพ้หรือผิวหนังชั้นบนบางส่วนถูกทำลาย ซึ่งจะง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วย จนทำให้เกิดการติดเชื้อในหูชั้นในที่รุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น อาจเป็นหูอักเสบ โดยหากมีอาการรุนแรงอาจพบว่าน้องหมาเดินหัวเอียง สะบัดหัว และหูบวมได้

 

การรักษา

เนื่องจากไรหูมีขนาดเล็ก การตรวจวินิจฉัยจึงสามารถทำได้โดยการตรวจขี้หูน้องหมาผ่านกล้องจุลทรรศน์ ประกอบกับการสังเกตลักษณะ และอาการต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงปัญหาไรในหูน้องหมา ส่วนแนวทางการรักษาไรในหูนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก หากอาการไม่รุนแรง เพราะตัวผลิตภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ต่อการกำจัดไรในหูนั้น ถูกผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มากมายในรูปแบบที่ใช้งานได้ง่าย มีทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทหยอดหลังคอ และแบบรับประทาน

อีกเรื่องสำคัญที่ห้ามลืมเด็ดขาด คือการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาตัวไร ควรทำการรักษาร่วมกับการทำความสะอาดช่องหูสุนัขเป็นประจำ ซึ่งการทำความสะอาดหูสุนัขนั้นจำเป็นต้องใช้น้ำยาล้างหูร่วมด้วย โดยมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์หยอดหูสุนัข และหากมีการติดเชื้อร่วมกับแบคทีเรียหรือเชื้อยีสต์อื่น ๆ ควรพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาเชื้อราเพิ่มเติมเพื่อให้การรักษาครอบคลุม และประสบผลสำเร็จ

นอกจากนี้หากบ้านไหนมีสุนัขหรือแมวตัวอื่นภายในบ้าน ควรพามาตรวจรักษาสัตว์เลี้ยงทุกตัวในบ้านพร้อมกันทั้งหมด และควรทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น พรมเช็ดเท้า ผ้าปูที่นอนหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ของสัตว์เลี้ยง งดให้สัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้านหรือเจอสุนัข และแมวตัวอื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์

 

การป้องกัน

เนื่องจากไรในหูสามารถติดต่อกันได้ง่าย หากมีสัตว์ตัวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงร่วมกันในบ้าน แสดงอาการผิดปกติ ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์และนำมาตรวจทุกตัว 

แต่ที่สำคัญที่สุด คืออย่าลืมการให้ผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันปรสิตภายนอกที่ครอบคลุมทั้งการกำจัดเห็บ หมัดสุนัข ไรขี้เรื้อน และไรในหู เพราะเป็นวิธีการป้องกันที่ง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยตัวผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์อยู่ที่ประมาณ 1 เดือน ซึ่งความถี่ของการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันอาจมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน ด้วยปัจจัยจากตัวสัตว์ และสิ่งแวดล้อมการเลี้ยงการจัดการ ร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิภายในร่างกาย เช่น พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า พยาธิหนอนหัวใจ

จะเห็นได้ว่าการป้องกันไรหูในสุนัขนั้นสามารถทำได้ง่ายมาก ดังนั้นเจ้าของน้องหมาทุกคนจึงไม่ควรละเลยเด็ดขาด เพราะหากน้องหมาของเราติดเชื้อไรในหู และเกิดภาวะหูอักเสบตามมาแล้ว การรักษานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย รวมไปถึงหากสุนัขเป็นหนักจนหูชั้นในอักเสบอาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อหู และระบบการทรงตัวอย่างถาวรได้ ดังนั้นจึงควรพาน้อง ๆ ไปใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายนอกให้ครอบคลุมทุกเดือนที่โรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้าน เพื่อให้น้องปลอดภัย และแข็งแรงจากภัยร้ายของปรสิตภายนอกนั่นเอง

ปกป้องน้องให้ครบกว่าทุกการป้องกัน ทั้งเห็บ หมัด ไร พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิร้ายอื่น ๆ ด้วยโปรแกรมป้องกันปรสิตที่ครบกว่าที่สัตวแพทย์แนะนำ

คัดลอก URL แล้ว